วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

'เกาต์' อีกโรคที่ต้องระวัง

โรคเกาต์ เป็นหนึ่งในบรรดาโรคที่มีอาการปวดที่ข้อที่พบมาก ที่สุด ซึ่งส่วนมากแล้วจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกาต์เป็นอาการของโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคทาง พันธุกรรมที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในการใช้สาร พิวรีน (purine) ทำให้เกิดสารยูริกในเลือดสูง ร่วมกับอาการจากการตกตะกอนของสารยูริกในข้อ ที่ไต และใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการปวดข้อที่มีการอักเสบ
เมื่อถึงบรรทัดนี้ คงมีคำถามเกิดขึ้นว่า สารยูริกคืออะไร? แล้วจะควบคุมปริมาณได้อย่างไร?
สารยูริก (Uric acid) คือ สารที่ได้จากการย่อยสลายของสารที่มีพิวรีนเป็นส่วนประกอบจากการรับประทานอาหารและจากร่างกายผลิตขึ้นเอง สามารถตรวจได้โดยการเจาะเลือดหรือตรวจผลึกยูริกในน้ำจากข้อที่อักเสบ กรดยูริกจะพบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เซี่ยงจี๊ เป็นต้น ร่างกายจะย่อยพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริก และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริกจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการสร้างขึ้นพอดี ส่วนในคนที่เป็นโรคเกาต์ พบว่าเกิดความผิดปกติของกระบวนการใช้และขับถ่ายสารพิวรีน
กว่า 90% ของผู้ป่วยโรคเกาต์ เกิดจากการที่กรดยูริกถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้าหรือน้อย จนทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกในร่างกายมากขึ้น เมื่อกรดยูริกอยู่ในระดับสูงก็ทำให้เป็นเกาต์ได้
อาการของโรคเกาต์
มีอาการปวด บวม แดง และร้อนตามข้ออย่างเฉียบพลัน อาจรุนแรงถึงกับเดินลงน้ำหนักหรือใช้งานข้อไม่ได้ อาการนี้อาจเป็น ๆหาย ๆ อาจทิ้งระยะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้ ซึ่งอาการปวดอาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อพร้อมกัน บริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อโคนนิ้ว หัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า นอกจากอาการปวดตามข้อแล้ว อาจมีอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
สาเหตุของโรคเกาต์
อาจพบว่าเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ กรรมพันธุ์ ซึ่งมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกาต์ ปัจจัยเรื่องอายุ มักพบในวัยกลางคนช่วงอายุ 40-50 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง อาจพบในวัยหลังหมดประจำเดือน คนที่รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก ๆ ความอ้วน และน้ำหนักตัวมาก ทำให้มีโอกาสเป็นเกาต์มากขึ้น ขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์และรับประทานยาบางชนิดจะลดการขับยูริก ทำให้เป็นเกาต์ได้เช่นกัน
การสังเกตอาการสามารถทำได้ โดยสำรวจตัวเองว่ามีอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันหรือไม่ โดยใช้วิธีตรวจหาร่วมกับการเจาะเลือดเพื่อหาระดับยูริกในเลือด เจาะน้ำจากการอักเสบในข้อที่บวม ตรวจพบผลึกยูริก ถ่ายภาพเอกซเรย์บริเวณข้อที่มีอาการอาจพบการทำลายของกระดูก และกระดูกอ่อนผิวข้อ อาจคลำได้ว่ามีปุ่มของผลึกยูริกใต้ผิวหนัง (โทฟัส) หรือตรวจปัสสาวะอาจพบว่ามีการขับยูริกออกทางไตได้น้อย หากตรวจพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าว แพทย์จะเริ่มทำการรักษาโดยทันที
หลักการรักษา
การรักษาหลัก ๆ ของโรคเกาต์คือ การลดระดับกรด ยูริกในร่างกาย และป้องกันการกำเริบของการอักเสบในข้อ นอกจากนี้ยังควรงดการดื่มสุรา เลี่ยงการนอนดึก หรือภาวะเครียด ในรายที่อ้วนควรลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มการขับยูริกออกจากร่างกาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง ยอดผัก หรือต้นอ่อนพืช
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้ออักเสบควรลดการใช้งานหรือลงน้ำหนักข้อที่มีอาการ ใช้ความร้อนประคบ หรือแช่บริเวณที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงการนวดที่รุนแรงหรือบีบรัดแน่น รับประทานยาต้านอักเสบหรือยาโคล์ชิซีน (colchicines) ตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีส่วนผสมของแอสไพรินหรือสเตียรอยด์เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การควบคุมอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูงก็เป็นสิ่งจำเป็น จึงควรงดอาหารที่มีพิวรีนสูงมากกว่า 150 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 100 กรัม เช่น ตับอ่อน เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ไข่ปลา ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาดุก ปลาซาร์ดีนกระป๋อง มันสมองวัว กุ้งชีแฮ หอย ถั่วดำ เขียว แดง เหลือง น้ำสลัดเนื้อ ซุปก้อน แตงกวา ชะอม สะเดา กระถิน เป็นต้น
ส่วนอาหารที่มีปริมาณพิวรีนน้อยกว่า15 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 100 กรัม ที่ไม่ต้องควบคุมได้แก่ นมสด ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ทุกชนิด ธัญพืชต่าง ๆ ผักทั่วไป น้ำตาลและขนมหวาน เจลาติน ข้าว ขนมปังไม่เกิน 2 แผ่นต่อมื้อ เนยแข็ง เนยเหลว ผลไม้ปอกเปลือก และผลไม้ทั่วไป
การจำกัดปริมาณพิวรีนในอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาโรคเกาต์บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดกำเริบขึ้นโดยที่ตัวเองไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ดังนั้น ควรศึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันการกำเริบของอาการที่อาจมีความรุนแรงขึ้น.

ภาควิชาออร์โธปิดิกส์และภาควิชาพยาบาลศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ : วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552